Vocabularies

คำศัพท์เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม ทำไมต้องท่องศัพท์ อ้าว…ถ้าเราไม่ท่องศัพท์ แล้วเราจะเอาคำศัพท์ที่เหมาะสมมาใช้เวลาพูด เวลาเขียนได้ยังไงกัน คนที่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ จะรู้ว่าการอับจนด้วยคำศัพท์นั้นมันทำให้การสื่อสารหยุดชะงักไปอย่างน่าอึดอัดใจ

ประสบการณ์ในการเป็นนักศึกษาในต่างประเทศ ทำให้รู้ว่าสำหรับนักเรียนไทย ที่ไม่ได้เก่งภาษาตั้งแต่ต้น แต่ตั้งใจจะไปฝึกฝนเอาในประเทศเจ้าของภาษาจะมีอาการ 4 ขั้นใหญ่ ๆ

1. ขั้นใบ้กิน – อันนี้เป็นเรื่องปกติเพราะไปถึงใหม่ ๆ คำศัพท์ที่รู้มาก็น้อย ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พอเขาถามกว่าจะนึกคำอธิบายได้ เพื่อนที่อุตส่าห์มาชวนคุยก็เฉาตายไปซะแล้ว คนที่อยู่ในอาการขั้นนี้ จะนั่งยิ้ม(แกล้งหัวเราะ ทั้ง ๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่อง อิอิ) แล้วก็ดูเป็นคนเงียบ ๆ เรียบร้อยทั้ง ๆ ที่ในความจริง ไม่ใช่เช่นนั้นเลย

2. ขั้นเหนื่อย – อาการนี้เกิดกับคนที่เริ่มคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อต้องพูดคุยยาว ๆ ก็จะมีอาการคิดช้า คิดนาน กว่าจะอธิบายอะไรได้ จะนานมาก เพื่อน ๆ ที่ใช้ภาษาได้คล่องกว่าจะคอยช่วยและพูดคำศัพท์ที่ถูกต้องให้ คนที่มีอาการขึ้นนี้จะมีความพยายามมาก แต่…คนฟังจะต้องคอยลุ้น และลุ้นว่าเมื่อไหร่ข้าจะเข้าใจสิ่งที่เอ็งพูด … อาการของโรคขั้นนี้ คนฟังจะเหนื่อยและลุ้นมาก แต่เพื่อนที่ดีจะอดทนกับเราได้ ส่วนคนไหนไม่ทนเหนื่อยฟังเรา ก็ปล่อยมันไปค่ะ อย่าเพิ่งท้อ

3. ขั้นรู้ทาง – สำหรับคนที่อยู่ไปซัก 2 ปี จะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ มากมายแล้ว โดยเฉพาะคนไที่ไปเรียนหนังสือ เพราะต้องอ่านตำราภาษาอังกฤษกันตาแฉะ เปิดดิกชันนารี่กันมือหงิก ท่องศัพท์กันเอาเป็นเอาตาย แต่สุดท้ายหนังสือเล่มที่เราเคยเห็นว่าอ่านยากน้ำตากระเด็น เมือ่เรากลับมาอ่านใหม่ภายในสองปี มันกลายเป็นตำราที่ง่ายไปเสียแล้ว คนที่มีอาการขั้นนี้จะสามารถสนทนากับเจ้าของภาษาได้ดีพอสมควร มีตะกุกตะกักบ้างในกรณีพูดคุยในเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ไม่เคยใช้คำศัพท์เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อน

4. ขั้นคล่องแล้ว – ขั้นนี้ไม่ต้องบรรยาย เมื่อผ่าน 3 ขั้นที่เขียนมาข้างบนได้ ก็จะมาถึงขั้นที่ 4 ในที่สุด แต่นั่นหมายถึงการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดใช้ หยุดเมื่อไหร่ ก็จะเริ่มลืมคำศัพท์ สำนวน หรือโครงสร้างประโยคที่เคยใช้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะคล่องจริง ๆ

Leave a comment